รู้จัก MRT สนามไชย ย่านประวัติศาสตร์แห่งเกาะรัตนโกสินทร์ให้มากขึ้น
ย่าน MRT สนามไชย อยู่บนถนนสนามไชยในเขตพระนคร ใจกลางเกาะรัตนโกสินทร์ ซึ่งเต็มไปด้วยสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และยังเป็นแลนด์มาร์คอันดับหนึ่งของกรุงเทพฯ ที่เหล่านักท่องเที่ยวจากทั่วโลกต้องการมาเยือนสักครั้ง
เกาะรัตนโกสินทร์เป็นพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ชั้นใน คือ บริเวณที่อยู่ภายในริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาด้านพระบรมมหาราชวังไปจนถึงคลองคูเมืองเดิม ซึ่งเป็นคลองที่ขุดขึ้นในสมัยกรุงธนบุรี มีปากคลองตลาดเป็นปากคลองอีกด้านหนึ่ง
ส่วนอีกด้านอยู่ที่เชิงสะพานพระปิ่นเกล้า กรุงรัตนโกสินทร์ชั้นกลาง มีอาณาเขตเริ่มตั้งแต่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาด้านเหนือ และด้านใต้คลองคูเมืองเดิมไปจนจรดคลองรอบกรุงหรือคลองบางลำพู ซึ่งเริ่มต้นที่ป้อมพระสุเมรุ และไปสิ้นสุดที่คลองโอ่งอ่างตรงวัดเลียบ
กรุงรัตนโกสินทร์ชั้นนอก คือพื้นที่ที่อยู่ภายในคลองผดุงกรุงเกษมที่ขุดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 เพื่อขยายพื้นที่ของกรุงเทพฯออกไป โดยจะเริ่มตั้งแต่เทเวศน์ไปด้านหนึ่ง และไปออกที่แม่น้ำเจ้าพระยาอีกด้านหนึ่งที่ท่าน้ำสี่พระยา
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) บริเวณเกาะรัตนโกสินทร์และบริเวณโดยรอบมีการเติบโตอย่างมาก จึงได้กำหนดชื่อ เกาะรัตนโกสินทร์ เพื่อบูรณปฏิสังขรณ์บริเวณดังกล่าว
ต่อมาได้กำหนดให้บริเวณเกาะรัตนโกสินทร์เป็นพื้นที่ที่รัฐบาลอนุรักษ์ให้คงสภาพเดิมไว้ให้มากที่สุดเพื่อประโยชน์ทางการศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ และไม่อนุญาตให้สร้างสิ่งก่อสร้างอาคารสูงเกิน 16 เมตร เฉพาะพื้นที่ภายในคูเมืองเดิม และห้ามก่อสร้างอาคารสูง 20 เมตร บริเวณถัดออกมาจากคลองคูเมืองเดิมจนถึงคลองโอ่งอ่างหรือคลองบางลำพู เราจึงยังได้เห็นบริเวณพื้นที่อนุรักษ์ดังกล่าวสวยงามไม่มีสิ่งบดบังจนถึงปัจจุบัน
สถานที่ตั้งของ MRT สนามไชย

สถานีตั้งอยู่ด้านล่างถนนสนามไชย ด้านทิศเหนือของปากคลองตลาด ในพื้นที่แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
โดยมีทางเข้า-ออก สถานี ดังนี้– ทองออก 1 มิวเซียม สยาม, พระบรมมหาราชวัง, วัดพระศรีรัตนศาสดาราม, วัดโพธิ์
– ทางออก 2 โรงเรียนวัดราชบพิธ
– ทางออก 3 สถานีตำรวจนครบาลพระราชวัง
– ทางออก 4 ปากคลองตลาด
– ทางออก 5 ท่าเรือราชินี, โรงเรียนราชินี
สถานที่สำคัญใกล้เคียงย่าน MRT สนามไชย
ในพื้นที่บริเวณโดยรอบย่าน MRT สนามไชย เต็มไปด้วยสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์มากมาย และยังมีย่านชุมชนเก่าแก่ในย่านนี้อีกด้วย

1. วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือวัดโพธิ์ เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 1 และเปรียบเสมือนเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศ ห่างจาก MRT สนามไชย ประมาณ 700 เมตร
2. พระบรมมหาราชวัง เป็นพระราชวังที่ประทับของพระมหากษัตริย์ประเทศไทย ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 5 ปัจจุบันใช้เป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ ตามพระราชประเพณี ห่างจาก MRT สนามไชย ประมาณ 1.2 กิโลเมตร
3. วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้ว เป็นวัดที่รัชกาลที่ 1 ให้สร้างขึ้นพร้อมกับการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2325 เพื่อประดิษฐานพระแก้วมรกต อุโบสถได้รับการตกแต่งอย่างวิจิตรงดงามจนมีชื่อเสียงในหมู่นักท่องเที่ยวทั่วโลก อยู่ห่างจาก MRT สนามไชย ประมาณ 900 เมตร
4. ปากคลองตลาด ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์เป็นตลาดปลาขนาดใหญ่ แต่ปัจจุบันเน้นการค้าส่งผัก ผลไม้และดอกไม้สด ปากคลองตลาดติดอันดับที่ 4 (จากการจัดอันดับ 1 ใน 10 ของตลาดดอกไม้ทั่วโลก) อยู่ห่างจาก MRT สนามไชย ประมาณ 300 เมตร
5. โรงเรียนราชินี เป็นโรงเรียนหญิงล้วนแห่งแรกของไทยที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2477 อยู่ห่างจาก MRT สนามไชย ประมาณ 170 เมตร
6. มิวเซียมสยาม เป็นพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ที่เน้นจุดมุ่งหมายในการแสดงตัวตนของชนในชาติ อยู่ติด MRT สนามไชย
7. โรงเรียนวัดราชบพิธ เป็นโรงเรียนเก่าแก่ที่ก่อตั้งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 อยู่ติด MRT สนามไชย
8. ยอดพิมานริเวอร์วอล์ค คอมมูนิตี้มอลล์ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ใจกลางย่านปากคลองตลาด ห่างจาก MRT สนามไชย ประมาณ 350 เมตร
ความสะดวกของการเดินทางในย่าน MRT สนามไชย
นอกจากการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินสถานี MRT สนามไชย แล้ว การเดินทางในย่านนี้ยังสามารถเข้าถึงได้หลายรูปแบบเช่นกัน
รถเมล์
เนื่องจาก MRT สนามไชย อยู่ในพื้นที่ที่ผ่านกับถนนหลายสาย จึงมีรถเมล์วิ่งผ่านย่านนี้จำนวนมาก
– รถเมล์สาย 3 หมอชิตใหม่-คลองสาน
– รถเมล์สาย 6 พระประแดง-บางลำภู
– รถเมล์สาย 9 อู่กัลปพฤกษ์-สถานนีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ(จตุจักร)
– รถเมล์สาย 12 ห้วยขวาง-ปากคลองตลาด
– รถเมล์สาย 44 ตลาดแฮปปี้แลนด์-ท่าเตียน
– รถเมล์สาย 47 ท่าเรือคลองเตย-กรมที่ดิน
– รถเมล์สาย 48 วิทยาเขตรามคำแหง-วัดพระเชตุพน
– รถเมล์สาย 53 (วนขวา) ตลาดเทเวศร์-ตลาดเทเวศร์
– รถเมล์สาย 73 สนามกีฬาห้วยขวาง-สะพานพุทธ
– รถเมล์สาย 73ก. ท่ารถสะพานพุทธ-อู่สวนสยาม
– รถเมล์สาย 82 พระประแดง-สนามหลวง
– รถเมล์สาย 524 หลักสี่-สนามหลวง
เรือ
ในย่านนี้ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาในบริเวณโดยรอบจึงมีท่าเรือจำนวนมาก เช่น ท่าเรือราชินี ท่าเตียน ท่าเรืออัษฎางค์ ท่าเรือยอดพิมาน เป็นต้น สามารถใช้บริการข้ามฝากไปยังฝั่งธนบุรี หรือไปทางนนทบุรีก็ได้

ล่าสุด ท่าเรือสะพานพุทธ เปิดใช้บริการแล้ว โดยจะเป็นต้นแบบท่าเรืออัจฉริยะ (smart Pier) โดยรูปลักษณ์ภายนอกเป็นอัตลักษณ์เฉพาะแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมวิจิตรศิลป์ หรือ สถาปัตยกรรมโบซาร์ (Beaux Arts ) ที่ใช้การตกแต่งด้วยประติมากรรมตามแนวเส้นที่เป็นอนุรักษ์นิยมของสมัยใหม่ ผสมกับศิลปะนีโอคลาสสิก
ภายในออกแบบตกแต่งเป็นสถาปัตยกรรมไทยร่วมสมัย ที่ให้ความรู้สึกเหมือนเป็นท้องพระโรงในสมัยรัตนโกสินทร์ ลงลายกระเบื้องเป็นดอกพิกุล ปลายเสาประดับด้วยบัวจงกล เพดานเป็นลายฉลุแบบดาวล้อมเดือน ปิดทองคำเปลว ส่วนโป๊ะเทียบเรือมีขนาดใหญ่ขึ้น สะดวกปลอดภัยต่อการใช้งานและการจอดเข้าเทียบท่าของเรือ

เพิ่มจุดชมวิวริมแม่น้ำเจ้าพระยา 180 องศามองเห็นสะพานพุทธ และสวนสาธารณะลอยฟ้า พร้อมสร้างห้องน้ำบริเวณท่าเรือให้บริการประชาชนทั่วไปและนักท่องเที่ยว ถือเป็นการยกระดับการเดินทางทางน้ำ เป็นอีกทางเลือกในการเดินทางที่มีความสะดวกรวดเร็ว สำหรับคนกรุงเทพฯ และปริมณฑล ช่วยลดปัญหาการจราจรทางบก อันเป็นการประหยัดพลังงานและลดมลภาวะอีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีเครื่องสแกนวัดอุณหภูมิอัตโนมัติ และป้ายอัจฉริยะแจ้งเวลาเรือเข้า-ออกท่า มีเครื่องจำหน่ายบัตรโดยสารอัจฉริยะ ติดตั้งไฟส่องสว่างภายนอกอาคาร ติดตั้งระบบควบคุมอากาศ อุณหภูมิ ความชื้น และระบบกรองฝุ่น PM 2.5 เนื่องจากอาคารเป็นระบบปิด
มีระบบ Smart Mobile Application ตรวจสอบตำแหน่งเรือ เส้นทาง ตารางเดินเรือ มีระบบ Image Processing ตรวจนับผู้โดยสารในแต่ละวัน เวลา และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาความปลอดภัย

ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 23 ธันวาคม 2563-14 กุมภาพันธ์ 2564 เปิดทดลองเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้า โดยจะวิ่งรับ-ส่ง ผู้โดยสารในแม่น้ำเจ้าพระยาเส้นทางสะพานพระราม 5 ถึงท่าเรือสาทร และในอนาคตมีแผนให้บริการระหว่างท่าเรือสะพานพระนั่งเกล้าถึงท่าเรือสาทรในอัตราค่าโดยสารที่ถูกกว่าในปัจจุบันแต่สะดวกสบายมากขึ้น

ถนนเส้นสำคัญและทางพิเศษ
สำหรับผู้ต้องการเดินทางมาย่าน MRT สนามไชย สามารถใช้รถยนต์ส่วนตัวหรือแท็กซี่ได้ โดยผ่านถนน 3
เส้นหลัก ดังนี้
– ถนนสนามไชย เริ่มต้นที่ถนนหน้าพระลานที่บริเวณแยกป้อมเผด็จจนถึงถนนราชินี บริเวณปากคลองตลาด
– ถนนอัษฎางค์ เป็นถนนที่เชื่อมระหว่างถนนราชดำเนินใน ด้านสนามหลวง กับถนนจักรเพชร ด้านปากคลองตลาด โดยขนานไปกับคลองรอบกรุง หรือคลองหลอดวัดราชบพิธ และถนนราชินี ที่อยู่ฝั่งตรงกันข้าม
– ถนนมหาราช เป็นถนนรอบพระนครด้านริมแม่น้ำเจ้าพระยา อยู่ต่อจากถนนจักรเพชรที่สะพานเจริญรัชในย่านปากคลองตลาด ไปจดถนนพระจันทร์ที่ย่านท่าพระจันทร์ ในท้องที่แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร