รู้จักรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ให้มากขึ้น
รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ หรือที่มักเรียกกันติดปากว่า รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์นั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการรับ-ส่งผู้โดยสารภายในเมืองที่จะเดินทางไปยังท่าอากาศยานได้สะดวก รวดเร็ว และคล่องตัว ระบบรถไฟฟ้านี้ให้บริการด้วยความเร็ว 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง วิ่งบนทางยกระดับเลียบทางรถไฟสายตะวันออก ระยะทางประมาณ 28 กิโลเมตร จำนวน 8 สถานี คือ
สถานี | ที่ตั้งสถานีและสถานีเชื่อมต่อ |
---|---|
สถานีพญาไท | ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของถนนพญาไท เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า BTS สถานีพญาไท |
สถานีราชปรารภ | บริเวณถนนราชปรารภตัดถนนนิคมมักกะสัน ใกล้ประตูน้ำ พื้นที่นี้กำลังพัฒนาเป็นศูนย์ธุรกิจใหม่ |
สถานีมักกะสัน | ตั้งอยู่ใกล้กับ MRT สถานีเพชรบุรี สามารถเดินเชื่อมต่อได้สะดวก |
สถานีรามคำแหง | ติดถนนรามคำแหง ใกล้สี่แยกคลองตัน ม.รามคำแหง, ม.อัสสัมชัญ, สนามราชมังคลากีฬาสถานและห้างสรรพสินค้าภายในรัศมี 2.5 กม. |
สถานีหัวหมาก | ตั้งอยู่บนถนนกำแพงเพชร 7 ใกล้ถนนศรีนครินทร์ เชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีเหลือง สถานีพัฒนาการ |
สถานีบ้านทับช้าง | ตั้งอยู่ใกล้ทางหลวงพิเศษกรุงเทพฯ–ชลบุรี (มอเตอร์เวย์) |
สถานีลาดกระบัง | ตั้งอยู่ใกล้ถนนร่มเกล้า และย่านชุมชนลาดกระบัง |
สถานีท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ | ตั้งอยู่ภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ชั้นใต้ดิน อาคารผู้โดยสารหลัก |
แต่เดิมแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ จัดให้มีการเดินรถเป็น 2 ระบบ ดังนี้
1. ระบบรถไฟฟ้าด่วนท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ SA Express (Suvarnabhumi Airport Express) เป็นระบบรถไฟฟ้าด่วนเชื่อมระหว่างสถานีรับส่งผู้โดยสารท่าอากาศยานในเมือง (City Air Terminal-CAT) ซึ่งตั้งอยู่ที่มักกะสันและปลายทางที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
โดยจะจอดรับส่งผู้โดยสารเฉพาะสถานีต้นทางและปลายทางเท่านั้น มีระยะทางประมาณ 25 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางจากต้นทางถึงปลายทางไม่เกิน 15 นาที จำนวน 4 ขบวน ๆ ละ 4 ตู้โดยสาร (ปัจจุบันยกเลิกไปแล้ว)
2. ระบบรถไฟท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ SA City Line (Suvarnabhumi Airport City Line) ให้บริการระหว่างสถานีพญาไท ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อกับระบบรถไฟฟ้า BTS และสถานีปลายทางท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีระยะทางประมาณ 28 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางจากต้นทางถึงปลายทางไม่เกิน 30 นาที จำนวน 5 ขบวน ขบวนละ 3 ตู้โดยสาร
ทั้งนี้ รูปแบบการให้บริการ แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ นั้นเป็นระบบรถไฟฟ้า (heavy rail transit) ซึ่งมีทางวิ่งแบบยกระดับความสูง 20 เมตรตลอดทั้งโครงการ เว้นแต่ในช่วงเข้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิก่อสร้างทางลดระดับลงชั้นพื้นดิน และหลังจากข้ามถนนสุวรรณภูมิ 2 แล้วเส้นทางจะลดระดับเป็นรถไฟฟ้าใต้ดินที่ความลึก 12 เมตรจากผิวดิน
โดยตัวขบวนรถเป็นรถปรับอากาศขนาดกว้าง 2.8-3.7 เมตร ยาว 20 เมตร สูงประมาณ 3.7 เมตร ความจุ 250-300 คนต่อคันพวง 3-10 คันต่อขบวน รองรับผู้โดยสาร 50,000 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง
อนาคตที่น่าจับตาของแอร์พอร์ต เรล ลิงก์
ปัจจุบันรถไฟฟ้าถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน หรือ แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ประกอบด้วย รถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมต่อสนามบินดอนเมือง สนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินอู่ตะเภา โดยได้เปลี่ยนผู้ดำเนินการเป็น บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ภายใต้สัญญาว่าจ้างดำเนินงานจาก บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด ซึ่งเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2564
สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบิน จะมีโครงสร้างและแนวเส้นทางการเดินรถเชื่อมต่อกับระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน แอร์พอร์ต เรล ลิงก์เดิม ที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบัน
โดยจะก่อสร้างทางรถไฟขนาด 1.435 เมตร ส่วนต่อขยาย 2 ช่วงจากสถานีพญาไท ไปยังสนามบินดอนเมือง และจากสถานีลาดกระบัง ไปยังสนามบินอู่ตะเภา พร้อมเชื่อมเส้นทางเข้า-ออกสนามบิน โดยใช้เขตทางเดิมของการรถไฟฯ เป็นส่วนใหญ่ มีระยะทางรวม 220 กิโลเมตร ซึ่งเป็นโครงการรถไฟความเร็วสูง มีความเร็วสูงสุด 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง
โครงการ แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ แบ่งช่วงการเดินทางออกเป็น 2 ช่วงคือ ช่วงการเดินทางระหว่างเมือง ความเร็ว 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง เริ่มตั้งแต่สถานีสุวรรณภูมิ-สถานีอู่ตะเภา และช่วงการเดินทางในเมือง ความเร็ว 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง เริ่มตั้งแต่สถานีดอนเมือง-สถานีสุวรรณภูมิ ซึ่งตลอดเส้นทาง 220 กิโลเมตร จะประกอบไปด้วยสถานีรถไฟความเร็วสูง 9 สถานี คือ
1. สถานีดอนเมือง
2. สถานีบางซื่อ
3. สถานีมักกะสัน
4. สถานีสุวรรณภูมิ
5. สถานีฉะเชิงเทรา
6. สถานีชลบุรี
7. สถานีศรีราชา
8. สถานีพัทยา
9. สถานีอู่ตะเภา

ในส่วนของโครงสร้างทางวิ่งของโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง จะประกอบด้วย ทางวิ่งโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ปัจจุบัน ระยะทางประมาณ 29 กิโลเมตร และทางวิ่งที่ต้องก่อสร้างใหม่ประมาณ 191 กิโลเมตร ซึ่งเบื้องต้นลักษณะรูปแบบโครงสร้างทางวิ่งทั้งโครงการเป็น 3 ประเภท คือ
1. ทางวิ่งยกระดับระยะทางประมาณ 181 กิโลเมตร
2. ทางวิ่งระดับดินระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร
3. ทางวิ่งใต้ดินระยะทางประมาณ 8 กิโลเมตร
ทั้งนี้ แนวเส้นทางแอร์พร์ต เรล ลิงก์ จะมีเส้นทางวิ่งผ่านพื้นที่ 5 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร, สมุทรปราการ, ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี และระยอง โดยจะใช้แนวเส้นทางระบบขนส่งมวลชนทางรางของโครงการเดิมและมีการออกแบบใหม่เฉพาะบริเวณเชื่อมต่อเข้าสนามบินสุวรรณภูมิ (ขาออก) และสนามบินอู่ตะเภา (ขาเข้า)
โดยแนวเส้นทางโครงการประกอบด้วย 3 โครงการ คือ โครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและสถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง (Suvarnabhumi Airport Link and City Air Terminal: ARL) โครงการระบบรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ส่วนต่อขยาย ช่วงดอนเมือง-บางซื่อ-พญาไท (ARL Extension) และโครงการรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพ-ระยอง

โดยแนวเส้นทางโครงการ แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จะมีการเปิดให้บริษัทเอกชนเข้าร่วมทุนพัฒนาพื้นที่ตั้งโครงการปัจจุบัน คือ สถานีรถไฟฟ้าที่ที่เปิดให้บริการแล้ว ได้แก่
- รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ช่วงสถานีพญาไทถึงสนามบินสุวรรณภูมิ
- ส่วนรถไฟทางสาม จะเปิดให้เอกชนร่วมทุนในช่วงสถานีหัวหมากถึงสถานีฉะเชิงเทรา
- รถไฟทางคู่ ช่วงสถานีดอนเมืองถึงสถานียมราช และช่วงสถานีฉะเชิงเทราถึงสถานีแหลมฉบัง
- รถไฟทางเดี่ยวที่จะเปิดให้เอกชนร่วมทุนคือ ช่วงสถานียมราชถึงสถานีหัวหมาก และช่วงสถานีแหลมฉบังถึงสถานีมาบตาพุด
ขณะเดียวกัน กลุ่มซีพี เตรียมรับมอบและเข้าบริหารและพัฒนาพื้นที่เพื่อสนันสนุนบริการในโครงการ ในบริเวณสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ มักกะสัน ขณะที่พื้นที่รอบนอกสถานีพญาไท มีแผนจะพัฒนาเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงกรุงเทพมหานาคร กับเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC Gateway)