รู้จักย่าน BTS รัชโยธิน ให้มากขึ้น
ย้อนไปในช่วงก่อนปี 2540 ย่าน BTS รัชโยธิน จัดว่าเป็นแหล่งที่พักอาศัยชานเมืองกรุงเทพฯ ตอนเหนือ แม้ว่าเวลานั้นศูนย์การค้าเซ็นทรัล ลาดพร้าว จะเปิดให้บริการแล้วก็ตาม แต่ความเจริญยังกระจุกตัวอยู่เพียงบริเวณพื้นที่โดยรอบของศูนย์การค้าเท่านั้น
อย่างไรก็ตามทำเลบริเวณแยกรัชโยธินมีโอกาสขยายตัวสูงเพราะเป็นจุดเชื่อมต่อกับถนนพหลโยธินและถนนรัชดาภิเษก จึงได้มีการก่อตั้งอาคารเอสซีบี ปาร์ค พลาซ่า ซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่ของธนาคารไทยพาณิชย์ และเปิดพื้นที่ให้บริษัทอื่น ๆ มาเช่าสำนักงานด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีตึกช้างที่สร้างเสร็จในเวลาไล่เลี่ยกัน
ส่วนจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ย่าน BTS รัชโยธิน คึกคักขึ้นอย่างเห็นได้ชัดคือ โรงภาพยนตร์เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ รัชโยธิน ซึ่งเป็นโครงการเอ็นเตอร์เทนเมนต์แห่งแรกบนพื้นที่แห่งนี้ แม้ว่าจะไม่ได้เป็นศูนย์การค้าเต็มรูปแบบเหมือนเซ็นทรัล ลาดพร้าว แต่ก็เป็นจุดดึงดูดผู้คนให้รู้จักและเข้าถึงพื้นที่นี้ได้เป็นจำนวนมาก
ปัจจุบันย่านนี้ได้รับอิทธิพลความเจริญมาจากถนนรัชดาภิเษกและถนนพหลโยธิน ช่วงห้าแยกลาดพร้าว จึงเป็นพื้นที่ที่มีอาคารสำนักงานชั้นนำหลายแห่ง มีแหล่งเอ็นเตอร์เทนเมนต์ชื่อดัง มีร้านอาหาร ร้านนั่งชิว มีสถานศึกษาชั้นนำ โรงพยาบาล คลินิก ทำให้ย่านนี้กลายเป็นแหล่งงานขนาดใหญ่
จากนั้นจึงเกิดความต้องการที่อยู่อาศัยตามมา โดยเฉพาะคอนโดที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากเพื่อรองรับคนทำงานในพื้นที่ใกล้เคียง และนักศึกษา ประกอบกับเป็นเส้นทางที่รถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต พาดผ่าน โดยมีสถานี BTS รัชโยธิน อยู่ในพื้นที่ จึงทำให้ย่านนี้มีการพัฒนาเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วทั้งด้านความเจริญของพื้นที่และราคาที่พักอาศัย
ในอนาคต ย่าน BTS รัชโยธิน จะมีรถไฟฟ้าผ่านเพิ่มขึ้นอีก 2 สาย คือ สายสีเหลือง เส้นทางลาดพร้าว-สำโรง และรถไฟฟ้าบริเวณข้างเคียงอย่างสายสีแดง เส้นทางบางซื่อ-รังสิต

สถานที่ตั้งของ BTS รัชโยธิน

สถานีรถไฟฟ้า BTS รัชโยธิน ตั้งอยู่บนถนนพหลโยธิน บริเวณเชิงสะพานข้ามแยกรัชโยธิน ใกล้กับโรงภาพยนตร์เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ รัชโยธิน ในพื้นที่แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมฯ โดยมีรายละเอียดทางเข้า-ออก สถานี ดังนี้
– ทางออก 1 อาคารเอสซีบี ปาร์ค พลาซา, อเวนิว รัชโยธิน, ทางเชื่อมเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ รัชโยธิน, กรีนเฮาส์ แมนชั่น, ซอยพหลโยธิน 33
– ทางออก 2 แมสซารีน พหลโยธิน, ซอยพหลโยธิน 30
– ทางออก 3 เดอะซี้ด เตร์เร่-รัชโยธิน, วิทยาลัยเทคโนโลยีไทยวิจิตรศิลป, ซอยพหลโยธิน 35
– ทางออก 4 ลุมพินีเพลส รัชโยธิน
– ทางออก 5 โรงเรียนอรรถมิตร, เซ็นทริค รัชโยธิน, ธนาคารเอสเอ็มอี
สถานที่สำคัญใกล้ย่าน BTS รัชโยธิน
จากที่เคยเป็นย่านชานเมืองได้พัฒนาเป็นย่านพักอาศัยระดับไฮเอนด์ที่รายล้อมด้วยแหล่งงาน สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตคนเมืองได้อย่างครบครัน ซึ่งมีสถานที่สำคัญ ดังนี้
– โรงเรียนสตรีวรนาถบางเขน โรงเรียนสตรีล้วนในหลักสูตรสามัญ ในระดับเตรียมอนุบาลจนถึงมัธยมปลายปีที่ 6 อยู่ห่างจาก BTS รัชโยธิน 1 กิโลเมตร
– มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน มหาวิทยาลัยรัฐบาลชั้นนำขนาดใหญ่ ระยะทางห่างจาก BTS รัชโยธิน 2.4 กิโลเมตร
– โรงพยาบาลเปาโล เกษตร ชื่อเดิมคือโรงพยาบาลเมโย เป็นโรงพยาบาลเอกชนขนาด 162 เตียง ระยะห่างจาก BTS รัชโยธิน 900 เมตร
– ห้างเมเจอร์รัชโยธิน โรงภาพยนตร์ในเครือเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ที่ให้บริการเช่าพื้นที่แก่ร้านค้าต่าง ๆ เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับการใช้ชีวิตและเพื่อความบันเทิงแก่คนในย่านนี้ ระยะห่างจาก BTS รัชโยธิน 230 เมตร
– ตลาดสดบางเขน หรือตลาดเสนาฯ เป็นแหล่งขายอาหารสด ผลไม้สด อาหารแห้ง วัตถุดิบประกอบอาหาร เปิดให้บริการทุกวัน ระยะห่างจาก BTS รัชโยธิน 750 เมตร
การเดินทางย่าน BTS รัชโยธิน
ย่าน BTS รัชโยธิน เป็นหนึ่งในย่านที่ขึ้นชื่อว่ามีการจราจรหนาแน่นเกือบตลอดเวลา เนื่องเป็นจุดที่สามารถเชื่อมต่อไปยังพื้นที่อื่น ๆ ได้ แต่หลังจากที่รถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต เปิดให้บริการ ก็ช่วยให้การจราจรที่เคยหนาแน่นเบาบางลงไปได้พอสมควร นอกจากนี้ยังมีรูปแบบการเดินทางอื่นๆ รองรับผู้คนในย่านนี้อีกด้วย
รถไฟฟ้า
รถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต สถานี BTS รัชโยธิน สามารถเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี ที่สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ และเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินได้ที่สถานีพหลโยธิน และสถานีสวนจตุจักรได้ด้วย
รถเมล์ประจำทาง
สายรถเมล์ | แนวเส้นทาง |
---|---|
สาย 26 | มีนบุรี – อนุสาวรีย์ชัยฯ |
สาย 39 | ตลาดไท – อนุสาวรีย์ชัยฯ |
สาย 104 | ปากเกร็ด – หมอชิต 2 |
สาย 107 | บางเขน – คลองเตย |
สาย 129 | บางเขน – สำโรง |
สาย 545 | นนทบุรี – สำโรง |
สาย 63 | ท่าน้ำนนท์ – อนุสาวรีย์ชัยฯ |
รถตู้
มีรถตู้หลายสายที่วิ่งผ่านหน้าเมเจอร์รัชโยธิน ส่วนใหญ่จะวิ่งมาจากสยาม รังสิต และอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ส่วนจากโซนอื่น ๆ ก็มีบ้างประปราย สายสำคัญ ได้แก่ สะพานใหม่-มาบุญครอง อนุสาวรีย์-ฟิวเจอร์ เป็นต้น
โดยจุดจอดรับส่งของรถตู้หลัก ๆ จะอยู่หน้าเมเจอร์รัชโยธิน และหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แต่บางสายจะขึ้นสะพานเลยเกษตรไปเล็กน้อย จึงต้องตรวจสอบให้แน่ใจก่อนใช้บริการ
รถสองแถว
มีประจำอยู่ที่ซอยเสนาเป็นหลัก สามารถไปได้หลายจุดหมายปลายทาง แต่เส้นทางหลักที่วิ่งจะเริ่มจากปากซอยไปจนสุดซอยเสนา และอีกสายจะเลี้ยวซ้ายไปทางลาดปลาเค้า หากไปลงที่แยกวังหินก็สามารถต่อรถกะป้อลาดพร้าว-วังหิน/โชคชัย 4 ได้อีก
ตัวอย่างของสถานที่ที่รถสองแถวจะไปถึง ได้แก่ แยกวังหิน, อมรพัน 9, หมู่บ้านเสนา, ตลาดบางเขน เป็นต้น รถสองแถวนี้ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง
วินมอเตอร์ไซค์
รูปแบบการเดินทางที่คล่องตัวที่สุด ในย่านนี้ก็มีอยู่หลายจุดด้วยกัน ส่วนมากก็จะอยู่ที่แลนด์มาร์คใหญ่ ๆ คือเมเจอร์รัชโยธิน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตลาดบางเขน โรงพยาบาลเปาโล เป็นต้น
ยังไม่นับรวมคิววินมอเตอร์ไซค์ขนาดย่อมของคอนโดมิเนียมบางแห่งอีกด้วย แต่ในช่วงเวลาเร่งด่วนวินในย่านนี้จะต้องต่อคิวค่อนข้างยาว โดยเฉพาะในจุดที่คนลงจากรถประจำทาง แล้วต้องมาต่อวินมอเตอร์ไซค์ หากไม่อยากรอนานเกินไป ก็สามารถเดินไปอีกสักหน่อยเพื่อมองหาคิววินใกล้เคียงได้
ถนนหลักและเส้นทางพิเศษ
ย่านนี้มีถนนพหลโยธินเป็นถนนเส้นหลักที่สามารถเชื่อมต่อกับถนนอื่น ๆ ได้อีกหลายสาย ดังนี้
– ถนนพหลโยธิน
– ถนนวิภาวดีรังสิต
– ถนนรัชดาภิเษก
– ถนนลาดพร้าว
– ถนนลาดพร้าว-วังหิน
– ถนนงามวงศ์วาน
– ทางพิเศษ ได้แก่ ทางยกระดับอุตราภิมุข อยู่ห่างจากแยกรัชโยธินไปประมาณ 1.2 กิโลเมตร